ชายชราชาวไทย - ลุงถิง

ชายชราชาวไทย - ลุงถิง

สมัยก่อนที่หาดใหญ่ช่วงหลายปีก่อน (ประมาณร่วมสามสิบกว่าปีก่อน)
ยังไม่มีบริการรถเก็บขยะจากเทศบาลเมืองหาดใหญ่ (สมัยนั้น)
ทำให้ทุกบ้านที่มีขยะต้องนำไปทิ้งรวมที่ถังเก็บขยะ
หรือแอบไปโยนทิ้งไว้แถวบริเวณที่มีคนนำขยะไปทิ้งกันมาก ๆ
หรือนำไปทิ้งที่ถังขยะบริเวณตลาดสดหรือตลาดชีกิมหยง
หรือนำไปทิ้งที่กองขยะแถวสถานีรถไฟหาดใหญ่
นี่เป็นปัญหาส่วนหนึ่งของคนในเมืองหาดใหญ่สมัยหนึ่ง

ที่แถวบ้านใกล้สถานีชุมทางรถไฟหาดใหญ่
จะมีชายไทยวัยกลางคน ชอบนุ่งขาสั้น 
ใส่เสื้อสีขาวหม่น สวมหมวกบ้างไม่สวมบ้าง
ขาทั้งสองข้างมีลักษณะเป็นแผลเป็นสีแดงคล้ำแห้งกรัง
ลักษณะเวลาเดินคือก้าวไปทีละก้าว
แต่เวลาก้มตัวลงไปหยิบของต้องค่อย ๆ นั่งย่อเข่าลง
แล้วนั่งพับเพียบเรียบร้อยจึงจะหยิบของได้
แกมารับจ้างเก็บขยะหลังบ้านของทุกครัวเรือนแถวนั้น
ในอัตราถ้าจำไม่ผิดเดือนละสิบห้าบาทต่อหลัง
ซึ่งก็มีบ้านเรือนที่แกรับบริการไม่น้อยกว่าร้อยหลังคาเรือนขึ้นไป

ไม่ทราบประวัติความเป็นมาหรือที่อยู่ของแกเลย
ทราบแต่ที่บ้านเรียกแกว่า ลุงถิง
แกจะมาเก็บขยะที่หลังบ้านรถไฟวันละสองรอบ
บ้านตึกแถวที่ดินเช่าจากการรถไฟแห่งประเทศไทย
จะมีประตูเปิดเข้าออกหลังบ้านได้
คนหาดใหญ่สมัยนั้นชอบมีทางเข้าออกหลังบ้านได้
หรือเว้นหลังบ้านไว้มีพื้นที่โล่งเล็กน้อย

ช่วงนั้นถังขยะหลังบ้านคนแถวนั้นจะเป็นลังไม้สี่เหลี่ยม
หรือหาไม้ตีเป็นกรอบลังแล้วทิ้งขยะลงในลังไม้ดังกล่าว
เพื่อให้ลุงถิงมาเก็บขยะไปทุก ๆ วัน
คือ รอบเช้าก่อนเก้านาฬิกา และรอบเย็นประมาณสี่ถึงห้าโมงเย็น
พร้อมกับรถเข็นที่ต่อขึ้นมาเป็นคอกสี่เหลี่ยมและใช้ล้อรถจักรยาน
เพื่อผ่อนแรงรถเข็นให้เข็นของได้ง่ายขึ้น
ขยะที่แกเก็บได้ บางอย่างจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้
หรือขายต่อเป็นของ Recycle ให้กับร้านค้าต่อไป
ส่วนนี้คือ รายได้แฝงของแกส่วนหนึ่ง

มีข้อน่าสังเกตคือ รถเข็นของแก
จะทำความสะอาดสม่ำเสมอ
ไม่มีกลิ่นสกปรกหรือเน่าเหม็นแต่อย่างใด
มาทราบทีหลังคือ หลังจากเก็บขยะแล้ว 
แกจะไปคัดแยกขยะ
เพื่อนำไปขายหรือใช้ประโยชน์ต่อบางส่วน
แต่ส่วนมากมักจะขายไปมากกว่า

แล้วทำความสะอาดรถเข็นของแกให้เรียบร้อย
ก่อนไปรับจ๊อบ (งาน) ที่สถานีรถไฟหาดใหญ่
โดยทำหน้าที่เป็น Porter คือ 
คนขนของให้กับคนเดินทางที่สถานีรถไฟ
เพียงช่วงจากชานชาลาสถานีรถไฟหาดใหญ่
ถึงบริเวณจอดรถด้านล่าง

สำหรับพวกเศษอาหาร 
บ้านแถวรถไฟจะแยกถังทิ้งไว้ต่างหาก
เพราะจะมีคนเลี้ยงหมูขี้พร้า (หมูพื้นเมือง)
มาขอรับไปต้มกับหยวกกล้วย ผสมรำ
เพื่อนำไปเลี้ยงหมูต่อไปจำนวนหลายคน
(ต้องแบ่งสายกันในเรื่องเศษอาหาร)
และมักจะมีขาประจำ พูดง่าย ๆ ว่า ขาใครขามัน 
ไม่มีการแย่งชิงกันหรือข้ามเขตในเรื่องเศษอาหารเหล่านี้

ต่อมาแกรับเลี้ยงเด็กชายคนหนึ่ง
ทราบแต่ว่า แม่เด็กทิ้งไว้ให้แกรับเลี้ยง
แกจะนำติดรถเข็นมาเก็บขยะทุกวัน
จนกระทั่งเด็กชายคนนี้เข้าโรงเรียน
เริ่มสังเกตว่าไม่ค่อยได้เห็นเด็กคนนี้อีก
ในช่วงที่มาเก็บขยะกับลุงถิงอีกเลย
อาจจะอายเพื่อน ๆ ก็เป็นได้
ที่มาเป็นคนเก็บขยะกับลุงจน ๆ


มีช่วงหนึ่งที่หาดใหญ่ มีการทำถ่ายภาพยนตร์ 
เรื่อง ชุมทางหาดใหญ่ (เจอโปสเตอร์แล้ว)
ดาราที่นำแสดงคือ มิตร ชัยบัญชา คู่กับ เพชรา เชาวราษฏร์
ภาพจาก http://www.thaifilm.com




มีการแสดงการปล้นและยิงกันบนถนนธรรมนูญวิถี
ช่วงระหว่างถนนรัถการกับถนนนิพัทธ์อุทิศ 1
เป็นช่วงสายสั้น ๆ ประมาณ 15 คูหา
สมัยนั้น บริเวณนั้นมีร้านทองจำหน่าย
อยู่ฝั่งซ้ายมือจากสถานีรถไฟหาดใหญ่
มีร้านค้าสินค้าเบ็ดเตล็ดแทรกอยู่จำนวนหนึ่งรวม 15 คูหา
(ถ้าความจำไม่ผิดพลาดในส่วนนี้)
ถ้าจำไม่ผิดมีร้านทองรูปพรรณอยู่สี่ร้าน (ปัจจุบันมีมากกว่านี้)
มีตรอกกั้นระหว่างร้านทองกับร้านถ่ายรูปโปจิน 
ถัดไปเป็นร้านขายน้ำอัดลม(กำเสงกัมปานี) ร้านรองเท้าเสื้อผ้า
ส่วนฝั่งขวามือไม่มีร้านขายทองรูปพรรณเลย
มีร้านหมอฟัน(หมอวิจารณ์) ร้านเสื้อผ้าของคนจีนสองร้าน(สิงคโปร์สโตร์,ปีนังสโตร์)
ของคนอินเดียหนึ่งร้าน (พี่โชค)บ้านว่าง(ร้านนาฬิกาน่ำฮวด-มาเปิดทีหลัง)
ร้านรองเท้าบาจา ตรอกเล็ก ๆ 
ร้านอาหารมุสลิม ร้านหมอฟัน(ไม่ค่อยเปิด) ร้านกาแฟ ร้านนาฬิกา ร้านของชำ
(ถ้าจำไม่ผิดเพราะเดินผ่านบ่อยก่อนไปโรงเรียนร่วมห้าปีกว่า)

แต่ที่จำได้แม่นคือ โรงแรมศรีทักษิณอยู่ใกล้ ๆ กับหัวมุมด้านฝั่งขวา
ข้ามถนนรัถการมาจากโรงแรมรถไฟหาดใหญ่สมัยก่อน
เปิดร้านขายอาหารและกาแฟข้างล่างโรงแรม
เป็นที่ชุมนุมนักนิยมพระเครื่องของหาดใหญ่สมัยนั้น
เรียกกันเล่น ๆ ว่า สนามพระท่าพระจันทร์ย่อส่วน
หลังบ่ายโมงจะมีขบวนรถไฟเข้าหาดใหญ่อีกสองสายเอง
นอกจากนั้นจะเป็นรถสินค้าซึ่งไม่เกี่ยวกับการขนคนเดินทาง
ที่โรงแรมจะเริ่มเปิดโต๊ะกาแฟเป็นชุมนุมนักนิยมพระเครื่องกัน

หลังจากถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ชุมทางหาดใหญ่
ได้ถ่ายทำเสร็จและเข้าฉายไม่นานนัก
เช่นกันสมัยนั้น คนหาดใหญ่ไปดูการถ่ายหนังกันมาก
จนผู้กำกับการแสดงต้องขอร้อง ไทยมุง ว่าอย่ามุงกันมาก
ทำให้ในภาพยนต์จะมีไทยมุงโผล่มาจำนวนหนึ่ง
การไปดูหนังคือ คอยดูว่าตนจะมีรูปหน้าโผล่ในฉากบ้างไหม
รวมทั้งตื่นเต้นที่มีการฉายหนังเรื่องเกี่ยวกับหาดใหญ่

คล้อยหลังไปไม่กี่เดือนมากนัก
ก็มีงานเข้าเกิดขึ้นมา กล่าวคือ
มีโจรกลุ่มหนึ่งได้ไปเช่าโรงแรมศรีทักษิณ
ไปนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่หลายวันเพื่อจะดูลาดเลา
จะเห็นสภาพร้านทองฝั่งจากฝั่งตรงข้ามจากโรงแรมศรีทักษิณ

กะวันเวลาปล้นช่วงรถไฟสายกรุงเทพฯ เข้าถึงหาดใหญ่
ประมาณเวลาสี่โมงเช้า (สมัยนั้น) หรือสิบนาฬิกา
ช่วงที่ปล้นตอนเช้า ได้ฟังจากคำบอกเล่าอีกทีหนึ่ง
ได้เข้าไปปล้นร้านทองถึงสองร้านโดยแบ่งโจรเป็นสองสาย
โจรที่มาปล้นครั้งนี้มีจำนวนห้าคน
มีการทุบตู้กระจกแล้วรวบรวมเพชรพลอยและทองออกมา
บางส่วนก็ตกหล่นอยู่หน้าร้านทองแถวนั้น
จนทำให้ร้านทองปัจจุบันต้องใส่ลูกกรงหรือตะแกรงเหล็ก
เพื่อให้ยากสำหรับโจรในการรวบรวมทองออกมา

มีการยิงปืนขู่จำนวนสองถึงสามนัด
ช่วงนั้นชาวบ้านร้านตลาดบอกเห็นจ่าจราจร (จ่าตุ้ย)
ขับรถจักรยานยนต์คันใหญ่ผ่านแล้วก็ขับเลยออกไป
สักพัก ชุดตำรวจจากหาดใหญ่
เริ่มมาล้อมที่บริเวณสายถนนธรรมนูญวิถี
หลังจากทราบว่ามีการปล้นร้านทองพร้อมกับมีเสียงปืนดัง 
ร้านค้าขายละแวกนั้นต่างรีบปิดร้านกันหมดแล้ว

โชคดีมากที่วันนั้นรถไฟเข้าสายมาก
จึงไม่มีปัญหาผู้คนเดินไปเดินมา
ทำให้ยากกับการจับกุมหรือต่อสู้กับผู้ร้าย
มีการยิงต่อสู้กัน ผลคือ โจรผู้ร้ายตายคาที่สามศพ
และมีการแขวนเชือกล้อมบริเวณที่เกิดเหตุ
เพื่อให้นายอำเภอกับผู้ว่าราชการจังหวัดมาตรวจตรา
เป็นข่าวอาชญากรรมที่ดังมากในสมัยนั้น 
ถ้าจำไม่ผิด พันตำรวจโท สล้าง บุนนาค
ในสมัยนั้นหรือมักเรียกกันว่า ผู้กองสล้าง
เป็นมือปราบโจรปล้นร้านทองในครั้งนั้น

ส่วนโจรอีกสองคนวิ่งเข้าทางตรอกทางสัญจร
อยู่ช่วงป้ายเขตรถไฟสองข้างฝั่งซ้ายขวา
ของคนบ้านพักรถไฟกับชาวบ้านที่เป็นเส้นทางลัด
ตรอกข้างร้านถ่ายรูปโปจิน จะไปทะลุถนนประชาธิปัตย์
หรือออกทางรัถการ ออกไปที่สายหนึ่งได้
ส่วนอีกตรอกหนึ่งอยู่ข้างร้านบาจากับร้านอาหารมุสลิม
จะออกไปด้านหลังบ้านพักไปที่สนามบอลรถไฟ
แล้วไปที่บ้านพักคนงานรถไฟ สถานีรถไฟ หรือหลังอู่ได้

ต่อมาไม่นาน ตรอกที่แต่เดิมเป็นทางสัญจร
ของคนหาดใหญ่หรือคนในพื้นที่ต้องปิดตาย
เพราะป้องกันโจรภัยที่วิ่งหลบหนี
หรือโจรวิ่งราว ลักวิ่ง ชิงปล้น 
มักจะใช้เป็นทางเข้าออกฉุกเฉิน
เพื่อหนีการจับกุมของตำรวจหรือชาวบ้าน

มีโจรคนหนึ่งหนีไม่รอดถูกจับได้ที่ใกล้แถวสะพานลอย
ส่วนอีกคนหนึ่งวิ่งหนีข้ามรางรถไฟ
ไปแถวหลังอู่(อู่ซ่อมรถไฟ) ไปหลบอยู่แถวใกล้ ๆ บริเวณบ้านพักรถไฟ
ซึ่งอยู่หลังสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ หรือที่เรียกว่าหลังอู่
หลบอยู่ได้นานเป็นอาทิตย์ทีเดียว
หรือภาษิตกำลังภายใน ที่ยิ่งอันตราย ยิ่งเป็นที่ปลอดภัย 
แต่ถูกจับได้ภายหลังเพราะมีการนำทองไปขาย
โดยโจรรายนี้มอบทองรูปพรรณกับเพชรพลอยให้เจ้าของบ้าน
แล้วให้เจ้าของบ้านที่ไปหลบอยู่นำไปขายเป็นทุนเพื่อรอการหนีต่อไป
จึงทำให้ถูกจับได้ในที่สุดเพราะรูปพรรณและตำหนิที่ร้านทองแจ้งไว้
ส่วนนายตำรวจที่แจ้งเกิดในสมัยนั้นถ้าจำไม่ผิดคือ พตท.สล้าง บุนนาค

หลังจากการปล้นร้านทองไม่นานมากนัก
ร้านค้าจำเป็นต้องเริ่มเปิดดำเนินการตามปรกติ
ทำให้เริ่มมีตำรวจมาเฝ้าร้านทองจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ส่วนลุงถิงยังเก็บขยะตามปรกติ
แต่ตอนนี้แกไม่ทำหน้าที่เป็น Porter อีกแล้ว
ประมาณว่าไม่ต่ำกว่าสองเดือน
เห็นแกจะนั่งเขี่ยเศษดินเศษทรายละแวกถนนหน้าร้านทองรูปพรรณ
บางครั้งก็ยกแผ่นซีเมนต์ที่วางปิดท่อระบายน้ำออก
แล้วลอกขี้ดินออกมากองบนฟุตบาท
เพื่อเขี่ยหาเพชรพลอยที่ตกหล่นอยู่ในขี้ดินแถวนั้น
บางครั้งก็นำกองดินใส่ถุงแล้วใส่รถเข็นรุนออกจากบริเวณนั้น
ทราบว่าแกเขี่ยพบเพชรพลอยได้ไปจำนวนหนึ่งพอสมควร
โดยการขายกลับให้กับร้านทองสองห้องแถวนั้น
หลังจากเสร็จสิ้นโครงการเฉพาะกิจ
แกก็กลับมาทำงานตามเดิมในตำแหน่ง porter ต่อ

ถัดมาไม่กี่ปีเทศบาลเมืองหาดใหญ่
เริ่มมีการบริหารจัดการรถเก็บขยะตามบ้านแล้ว
ธุรกิจของแกต้องเลิกแล้วกันไปในที่สุด
เพราะไม่จำเป็นต้องจ่ายสองต่ออีกแล้ว
(จ่ายให้กับแก แล้วต้องจ่ายให้เทศบาลอีก)
ส่วนที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ มีการจัดระเบียบสังคม
มีการประมูล หรือระบุคนที่สามารถเข้าไปทำหน้าที่เป็น Porter ได้
ทำให้อาชีพของแกหมดไปโดยปริยาย
สุดท้ายไม่ทราบข่าวคราวของแกอีก
ก็เหมือนกับคนสามัญชนทั่วไป
ที่ยากไร้และไม่มีเงินมีทองมากมายก่ายกอง
ไม่นานวันก็กลายเป็นคนไร้ชื่อ ไร้นาม 
จะไปไหนมาไหน หรือหายไปไหน ก็ไม่มีใครสนใจมากนัก
เป็นเรื่องชีวิตของคนธรรมดาสามัญในท้องถิ่น

เขียนจากความทรงจำในอดีตที่ผ่านมา
ถึงคนที่บ้านเกิดคนหนึ่งที่เคยพบเคยเจอ






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บ้านรังนกนางแอ่น(กินรัง)

เรื่องเล่าจากคนทำป้ายสุสานจีน

ขอโทษทันทีเมื่อส่งอีเมล์ผิดพลาด