ครูประจำชั้น ป 1 ค.

ครูที่ยังจำได้ชั้น ป.1 ค.

ครูประจำชั้นที่ยังจำได้

ครูประจำชั้นประถมปีที่ 1 ค. ชื่อว่า ครูช่วง ณ สงขลา
สมัยนั้นที่โรงเรียนแสงทองวิทยา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
(เป็นโรงเรียนชายล้วน สมัยนั้นสอนตั้งแต่ประถมปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3)
ถ้าจำไปผิดจะมีชั้นประถมปีที่ 1-4 ที่มีห้อง ก ข ค
ก่อนจะเริ่มมีห้อง ง ตอนชั้นประถมปีที่ 5
เพราะพอก่อนจบ ประถมปีที่ 4 ภาคบังคับ
(การศึกษาภาคบังคับสม้ัยนั้นจบแค่ ป 4. ก็พอแล้ว)
ก็จะต้องสอบข้อสอบจังหวัดว่าได้หรือตก
หรือเรียกว่าข้อสอบกระทรวงสมัยก่อน
ถ้าสอบผ่าน ก็จะออกไปทำงานช่วยพ่อแม่หรือ
จะขอเรียนต่อชั้นประถมปีที่ 5-7 ต่อไปได้เลย
แล้วสอบข้อสอบจังหวัดอีกครั้งตอน ป.7 หรือประถมศึกษาปีที่ 7
สอบผ่านก็เรียนต่อมัธยมศึกษาปีที่ 1
หรือออกไปทำงานช่วยครอบครัวได้เลย
เพราะจริง ๆ จบการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่ป 4. แล้ว

ครูช่วง ณ สงขลา เป็นที่หน้าตาแบบคนจีนรุ่นเก่าที่หน้าเรียวยาว
คางแหลม ไว้หนวดเล็กน้อย ผิวดำคล้ำ
เป็นครูรุ่นเก่าแก่ที่จบประถมศึกษาปีที่ 4 ก็มาเป็นครูได้เลย
แกสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 และสอนมาตั้งแต่รุ่นแรกของ
โรงเรียนแสงทองวิทยา ตั้งแต่พี่ชายคนโตของผม
จนกระทั่งถึงผมเข้าเรียนพร้อมกับพี่ชายที่อายุห่างกันปีเศษ
ยังจำได้หลังจากประกาศผลสอบประจำภาคเสร็จทุกครั้ง
(สมัยนั้นภาคการศึกษามีสามเทอม) สอบปลายภาคเทอมละครั้ง
คุณพ่อมักจะให้นำบุหรี่ยี่ห้อกาลิค รูปสฟิงค์อียิปต์
จำไม่ได้ว่ากระป๋องหนึ่งจะบรรจุบุหรี่ห้าสิบมวนหรือหกสิบมวน
นำไปให้ครูช่วงครั้งละกระป๋องสองกระป๋อง
เพราะทั้งคู่รู้จักกันมาก่อนตั้งแต่รุ่นพี่ชายคนโตจนมาถึงผม

ครูช่วงเป็นคนสกุล ณ สงขลา ปลายแถวแล้ว
มีฐานะที่เรียกว่าไม่ถึงกับร่ำรวย
มีสวนยางพาราบ้างเล็กนัอยที่บ้านน้ำน้อย
แต่ต้องตื่นแต่เช้าขึ้นรถไฟสายหาดใหญ่-สงขลา
ลงที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ แล้วเดินมาโรงเรียน
บางครั้งก็นั่งรถประจำทางสงขลาหาดใหญ่ มาลงที่โรงเรียน
ก่อนเวลาเจ็ดโมงเช้าทุกวัน โรงเรียนเข้าเรียนตอนแปดโมงเช้า

มีครั้งหนึ่งแกพาลูกชายของแกสองคนมาสมัครเป็นครูที่โรงเรียนสองคน
คือ ครูสุชาติ ณ สงขลา และครูสุชีพ ณ สงขลา
ทั้งสองสอนอยู่พักหนึ่งคนแรกสอบบรรจุเป็นครูได้ก็เลยลาออกไป
ส่วนอีกคนไปเขียนการ์ตูนการเมืองอยู่พักหนึ่ง
ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกจะเป็นหนังสือพิมพ์มติชน
ก่อนที่จะไปทำเกี่ยวกับการจัดปกหนังสือ
หรือ layout หนังสือตามนิตยสารและวารสารทั่วไป
ช่วงครูสุชีพ ยังสอนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา
เคยได้ยินรุ่นพี่ที่เคยเรียนกับแกต่างชอบแก
เพราะแกลายมือสวยและเขียนรูปประกอบการสอนตลอดเวลา
แต่ผมไม่ทันได้เรียนกับแกเพราะแกลาออกไปก่อน

ส่วนครูสุชาติ ณ สงขลา เคยเล่าให้นักเรียนฟัง
ช่วงแกมาสอนแทนครูประจำวิชาที่ไม่มาสอนครั้งหนึ่งว่า
มีช่วงหนึ่งมีนายอำเภอชื่อ นายเจริญจิตต์ ณ สงขลา
ย้ายมาเป็นนายอำเภอที่หาดใหญ่ แต่ยังไม่ได้ไปเจอกัน
ช่วงหนึ่งแกมีธุระเกี่ยวกับเอกสารที่อำเภอ
เลยขอเข้าพบเพื่อทำความรู้จักและนับญาติพี่น้องกัน
แกเรียกนายอำเภอว่าอา และมีการชักพากันไปมาหาสู่กับ
ญาติพี่น้องคนอื่น ๆ ที่นามสกุล ณ สงขลา ที่ยังอยู่ที่สงขลา
(ตำบลน้ำน้อย ขึ้นกับอำเภอหาดใหญ่)

เพิ่มเติม ตระกูล ณ สงขลา มีบางช่วงไปเป็นเจ้าเมืองที่
อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี (สมัยหนองจิกยังเป็นเมือง)
บางส่วนก็ย้ายไปรับราชการอยู่ที่กรุงเทพฯ
หรือย้ายครอบครัวไปอยู่กรุงเทพฯ ร่วมร้อยปีแล้ว
ทำให้ขาดการติดต่อกันไปส่วนหนึ่ง
เพราะการเดินทางสม้ัยก่อนไม่สะดวกสบายมากนัก
หรือภาษิตกำลังภายในมักจะบอกว่า
เพื่อนสนิทบางทีก็ใกล้ชิดหรือสนิทสนมกัน
มากกว่าญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกล
หรือไม่่ค่อยได้มีการติดต่อพบปะกัน

ต่อมานายอำเภอคนนี้ก็ได้ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
จึงได้ทำการบูรณะบ้านเก่าของต้นตระกูล ณ สงขลา
ที่ทิ้งร้างไว้นานเป็นพิพิธภํณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดสงขลาในปัจจุบัน
ที่จำได้ด้เพราะสมัยหนึ่งมักไปกับแม่โดยนั่งรถแท็กซี่หรือบางครั้ง
ก็นั่งรถไฟไปหา นายแพทย์เล็ก มโนมัยอุดม ที่อำเภอเมืองสงขลา
คลินิกหมอเล็กก็อยู่ใกล้ ๆ กับจวนเก่าเจ้าเมืองสงขลาเดิม
สมัยนั้นทิ้งร้าง มีคนจนเข้าไปอยู่อาศัย สภาพน่าเกลัวมาก
ประตูหน้าต่างก็ชำรุด มืดคลื้มเพราะมีต้นไม้ กาฝากปกคลุมอยู่
ก่อนจะทำการบูรณะใหม่จนสวยงามเหมือนปัจจุบัน

มีแผ่นหินแผ่นหนึ่งยังอยู่ในพิพิธภัณฑ์สงขลา (เคยตั้งใจอ่าน)
เขียนสาแหรกตระกูล ณ สงขลา
ไว้ว่าสายไหนใครเป็นต้นตระกูล
แต่งงานกับใครบ้าง สายไหนบ้าง
แต่ไม่ได้ระบุนามสกุล สุวรรณคีรี และ โรจนหัสดิน
เคยสอบถามผู้รู้/เพื่อนรุ่นพี่ที่นามสกุล ณ สงขลา
รวมทั้งได้อ่านเอกสารประกอบหลายเล่ม
จึงทราบว่า เป็นโครงกระดูกในตู้ของตระกูลนี้
กล่าวคือ การได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองสงขลา หรือเจ้าเมืองหนองจิก
ของลูกหลานสกุล ณ สงขลา
บางช่วงก็เป็นสายของเมียคนที่สอง
เลยทำให้สายเมียหลวงไม่ค่อยพอใจ
มีการขัดแย้งกันมาโดยตลอด หรือมีการร้องเรียนไปยังเมืองหลวง
จนภายหลังสายเมียคนที่สอง
เลยเปลี่ยนนามสกุลไปใช้ตามราชทินนามไปเลย
ทำให้ขาดการสืบสายและนับญาติกันไปร่วมร้อยปี
เพิ่งจะกลับมารวมญาติและนับญาติพี่น้องกันใหม่ในช่วงหลังนี้
เพราะความอาฆาตโกรธแค้นมันผ่านมานาน
จนเกินจะจำได้แล้วในรุ่นเหลนโหลนลื้อ

ครูช่วง ณ สงขลา ที่จำได้ดีเพราะ ผมชอบไปต่อหนังสือ
คืออ่านหนังสือแบบเรียน ก ไก่ สระอะ สระอา กับแกเสมอ ๆ
ตอนนั้นไม่ได้ผ่านชั้นอนุบาลจากโรงเรียนธิดานุเคราะห์
(โรงเรียนนี้เป็นเครือซาเลเซียน รับนักเรียนหญิงล้วน
ยกเว้นระดับชั้นอนุบาล ส่วนโรงเรียนแสงทองวิทยา
ก็รับแต่นักเรียนชายล้วนเท่านั้น)
เมือผมเข้าเรียนก็เข้าเรียนชั้นประถมปีที่หนึ่งเลย
ส่วนเด็กที่ผ่านโรงเรียนธิดานุเคราะห์
หรือมีพื้นฐานการเรียนบ้างก็จะได้เรียนห้อง ก.
ส่วนห้อง ข. ส่วนมากจะเป็นลูกครูโรงเรียนหรือเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน
กับเด็กนักเรียนที่พออ่านออกเขียนได้
ห้อง ค. มักจะเป็นเด็กนักเรียนอ่อนหรืออ่านไม่ค่อยได้

แต่สำหรับผมก่อนเข้าโรงเรียนก็ท่อง ก ไก่-ฮ นกฮูก กับสระได้แล้ว
เพราะพี่ชายพี่สาวสอนไว้ก่อนเบื้องต้น
สมัยนั้นครูประจำชั้นจะสอนคนเดียวทุกวิชา
แต่มืวิชาหลัก ๆ เพียงสามวิชาถ้าจำไม่ผิดคือ
ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ แล้วภาษาไทย
พอสอนวิชาหลักเสร็จก็ให้เด็กนักเรียนทำงานเพื่อส่งตรวจ
ในเวลานั้นใครว่างหรือทำงานเสร็จแล้ว
ก็ขึ้นไปต่อหนังสือกับครูประจำชั้นที่โต๊ะทำงานได้

มีช่วงหนี่งร้องไห้เพราะโดนครูดุ เพราะจำไม่ได้ว่า
อักษรสูง อักษรกลาง อักษรต่ำ ใช้กับวรรณยุกต์ใดไม่ได้
(แบบเรียนยังหาไม่พบ ไม่ทราบว่าน้ำท่วมไปหรือเปล่า)
เมื่อจำได้ก็เลยกลับไปอ่านต่อเรื่อย ๆ เพราะชอบอ่านมาก
จนจบเป็นคนแรกของห้องเรียน ครูช่วงได้ชมเชยในชั้นเรียน
แล้วเลยให้ไปอ่าน/เรียนแบบเรียนเร็วใหม่คนแรกของห้อง
หลังจากนั้นไม่นานนัก
ก็มีเพื่อนอีกหลายคนเริ่มต่อแถวจนจบแบบเรียนดังกล่าว
แล้วเริ่มอ่านหนังสือแบบเรียนเร็วใหม่ตามติด ๆ กัน จำไม่ได้ว่ามีเรื่องใดบ้าง
แต่ีช่วงนั้นก็รู้สึกว่ายืดพอสมควรเพราะได้เป็นคนช่วยครูสอน
ให้กับเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนบางคนตามแต่ครูจะมอบหมาย

แต่สมัยนั้นเป็นอะไรที่ตอนนี้คงจะทำไม่ได้แล้วคือ
ครูช่วง เวลาสอนนักเรียนบางช่วง
แกก็สูบบุหรี่ไปแล้วสอนเด็กนักเรี่ยนไป
เด็กนักเรียนก็ไม่เห็นบ่นว่าอะไร เรื่องกลิ่นควันบุหรี่
เพราะตอนนั้นการสูบบุหรี่ของครูเป็นสิทธิพิเศษ
แต่ห้ามเด็กนักเรียนสูบโดยเด็ดขาด
แต่ก็มักจะมีเด็กนักเรียนรุ่นโตระดับมัธยมศึกษา
มักจะไปแอบสูบบุหรี่กันในห้องน้ำนักเรียน
จับได้ก็ถูกเฆี่ยนเป็นประจำ

ที่จำได้ช่วงหนึ่งผมเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่สาม
ขอแกหลบไปอ่านหนังสือเตรียมสอบในห้องเรียน
ชั้นประถมปีที่หนึ่งที่แกสอนในบางช่วง (ช่วงพักกลางวัน)
แกก็ยังจำชื่อผมได้ และอนุญาตให้นั่งอ่านหนังสือได้
ถ้าจำไม่ผิดแกเคยย้ายไปสอนชั้นประถมปีที่สี่พักหนึ่งหรือไง
แต่แล้วขอย้ายกลับมาสอนชั้นประถมปีที่หนึ่งตามเดิม
ทราบข่าวสุดท้ายตอนเรียนหนังสืออยู่ทีกรุงเทพฯ ว่าแกเสียชิวิตไปแล้ว
ได้ทำการเผาและบรรจุกระดูกไว้ที่วัดน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่

นี่คือ ความทรงจำถึงครูคนแรกของผม

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บ้านรังนกนางแอ่น(กินรัง)

เรื่องเล่าจากคนทำป้ายสุสานจีน

ขอโทษทันทีเมื่อส่งอีเมล์ผิดพลาด