โรงแรมแห่งหนึ่งในหาดใหญ่

โรงแรมแห่งหนึ่งที่หาดใหญ่

สถานที่ก่อสร้างโรงแรมแห่งนี้
จำได้ว่าเป็นที่ดินแปลงใหญ่ที่มีคลองเตยล้อมรอบอยู่ เหมือนรูปตัว U
เป็นที่สวนยางเก่าแก่และบางส่วนเป็นสวนผัก
มีทางเดินข้ามไปยังฝั่งนี้เป็นสะพานเล็ก ๆ สามเส้นคือ
หน้าโรงเรียนธิดานุเคราะห์หนึ่งเส้น
เข้าทางวัดปากน้ำ(มงคลเทพาราม)
ทางวัดสมัยอาจารย์แอบ(อดีตเจ้าอาวาส)ได้สร้างศาลาการเปรียญ
ตั้งคร่อมระหว่างคลองเตยกับเป็นทางข้าม(เทศบาลได้สั่งรื้อทิ้งไปนานแล้ว)
ไปยังฝั่งตรงข้ามคลองเตยด้านหลังเป็นที่พักของแม่ชีส่วนหนึ่ง
ปัจจุบันมีพระพุทธรูปตั้งอยู่และมีอาคารชั้นเดียวเป็นที่พัก/เก็บของบางส่วน
สภาพปัจจุบันอยู่ติดกับ/ใกล้กับรั้วโรงเรียนธิดานุเคราะห์
ทั้งสองเส้นนี้ไม่จำเป็นจะไม่ค่อยมีคนใช้เส้นทางมากนัก
เพราะด้านในค่อนข้างจะรกร้างและเกรงกลัวอันตรายจากงู
และเกรงว่าเป็นจะเป็นการบุกรุกที่สวนบุคคลได้

ส่วนด้านหน้าทางเข้าเป็นทางสะพานเหล็ก ๆ เล็ก ๆ
ทางกว้างพอเพียงสำหรับให้คนเดินข้าม
อยู่ตรงถนนเพชรเกษมใกล้กับวงเวียนน้ำพุในปัจจุบัน
ด้านหน้าจำได้ว่าเป็นป่ายางพารา
มีการติดป้ายโฆษณาภาพยนต์ระเกะระกะ

ที่จำได้ดีเพราะเคยขับรถจักรยานพร้อมกับเพื่อน
ได้เจอเหตุการณ์มีไทยมุงจำนวนหนึ่งและตำรวจ
เดินเข้าเดินออกไปในบริเวณนี้
ทราบข่าวแต่ว่ามีการฆ่ากันตาย
และทิ้งศพผู้ชายไว้ด้านหลังป้ายดังกล่าว
แต่ไม่กล้าเดินเข้าไปดูเพราะกลัวผีกับกลัวสภาพศพ
เลยรีบขับจักรยานพร้อมเพื่อนแข่งกันกลับบ้านตนเอง

สมัยนั้นรถยนต์กับรถจักรยานยนต์มีน้อยมาก
รถประจำทางหลักคือ รถโพธิ์ทอง
เป็นรถประจำทางสัมปทานวิ่งระหว่าง
หาดใหญ่กับสงขลาใช้สีเขียวเป็นหลัก
คนขับรถประจำทางมักจะขับเร็วและไม่ค่อยสุภาพมาก
เพราะเป็นกิจการผูกขาดอย่างหนึ่ง
และมีการจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางมาก
ทำให้เจ้าของกิจการไม่มีอิทธิพลก็ต้องมีบ้างไม่มากก็น้อย
เพราะประโยชน์ที่ต้องเกื้อกูลกันในทางคดีต่าง ๆ
ที่รถประจำเส้นทางที่ขับผ่าน
อาจจะเกิดปัญหาและอุปสรรคที่คาดไม่ถึง
กับคนเดินเท้าหรือรถรารถยนต์ที่วิ่งสวนไปมาได้

ต่อมาตระกูลเศรษฐีภูเก็ต
ก็ได้มากว้านซื้อเพิ่มเติมจำนวนหนึ่ง
จนทำให้ได้มีพื้นที่เต็มส่วนหนึ่ง
ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
โดยลงทุนสละเนื้อที่ด้านหน้าที่ติดกับถนนเพชรเกษมเป็นทางสาธารณะ
แล้วทำการสร้างสะพานคอนกรีตเพื่อข้ามคลองเตย
ตรงด้านติดกับถนนเพชรเกษม
ใกล้วงเวียนน้ำพุหาดใหญ่ในปัจจุบัน
เพื่อทำให้สามารถเดินทางเข้าออกได้สะดวกสะบาย
กอปรกับเป็นเส้นทางหลักใช้ขนส่งวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง
เข้าไปในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
สะพานดังกล่าวมีชื่อของเศรษฐีภูเก็ตคือ ..อนุสรณ์

ยุคสมัยนั้นการสร้างอาคารพาณิชย์(ตึกแถว)ขาย
ก็จะต้องมีโรงภาพยนต์เป็นแม่เหล็ก
ในการดึงดูดให้คนมาใช้บริการมากขึ้นกว่าเดิม
เพราะการละเล่นบรรเทิงสมัยก่อนมีน้อยมาก
ทีวีที่ใช้กันอยู่ตามบ้านเรือนก็ยังเป็นสีขาวดำ
การใช้คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ท วิดีโอ วีซีดี ยังไม่มีแต่อย่างไร
ทีวีที่รับได้ก็เพียงไม่กี่ช่อง ถ้าขึ้นเสาอากาศดี ๆ
(แบบที่เคยเห็นกันที่บ้านโป่ง ราชบุรี)
ก็จะรับช่องของทางมาเลย์ได้
ซึ่งจะมีหนังเป็นภาษาอังกฤษ จีนฮกเกี้ยน และมาเลย์
ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง
ทำให้บางบ้านก็มักจะคุยทับเพื่อนบางคนว่า
ที่บ้านบังคับให้ลูกหลานดูแต่ช่องมาเลย์
ช่องหนังไทยประเภทดาวพระศุกร์ หนังวรรณคดีไทย
ไม่ให้ดูเด็ดขาดอะไรทำนองนั้น

เมื่อสร้างตึกแถวส่วนหน้า/โครงการและทำการขายหมดแล้ว
ก็นำเงินส่วนที่ได้กำไรมาสร้างโรงแรมแห่งนี้ต่อ
โดยการกู้เงินจากสถาบันการเงินส่วนหนึ่ง
เพราะเครดิตตระกูลเศรษฐีภูเก็ตดังกล่าวดีมากในสมัยนั้น
จึงได้วงเงินมาหมุนเวียน/สร้างโรงแรมดังกล่าว
จนสร้างโรงแรมเสร็จและเปิดให้บริการ
กิจการไม่อยู่ในระดับที่จะว่ากำไรมากก็ไม่ใช่
จะว่าขาดทุนก็ไม่เชิง

แต่อาศัยการตลาดที่ดีและแบรนดิ้ง(Branding)ที่ดีว่า
เป็นโรงแรมชั้นหนึ่งจริง ๆ และราคาแพงกว่าโรงแรมทั่วไปในหาดใหญ่
เรียกว่า มีระดับในการเข้าพักโรงแรมแห่งนี้ พักแล้วดูดีมีสกุลรุนชาติ
มีส่วนลดพิเศษสำหรับข้าราชการ เซลล์แมน
และเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ดีกับข้าราชการ นักการเมือง
รวมทั้งใช้ทดแทนการเลี้ยงดูปูเสื่อ
ที่แต่เดิมจะต้องจ่ายให้กับบุคคลภายนอกหรือสถานที่แห่งอื่น
เป็นการจ่ายภายในองค์การมากกว่าเดิมเรียกว่า
เงินทองไม่ค่อยรั่วไหล
เรือล่มในหนองทองจะไปไหน
จ่ายกระเป๋าซ้าย รับกระเป๋าขวา อะไรทำนองนั้น
มีที่จอดรถยนต์ที่หมุนเวียนขึ้นไปถึงห้าชั้น
เป็นอะไรที่แปลกใหม่มากของหาดใหญ่ช่วงนั้น
ด้านข้างก็มีบริเวณที่ว่าง/ที่สาธารณะจอดรถยนต์สะดวกสะบาย

มีห้องสัมนา ห้องอาหาร และห้องจัดเลี้ยง
ส่วนนี้เป็นรายรับเสริมและรายรับหลักของโรงแรมนี้
เพราะสมัยก่อนการให้บริการส่วนนี้ของโรงแรม
ยังไม่มีเลยในหาดใหญ่
เมื่อโรงแรมแห่งนี้บุกเบิกขึ้นมาก็ได้จากส่วนราชการ
ที่มักจะมาฝึกอบรมสัมนาเป็นรายรับหลัก
รองลงมาก็เป็นหน่วยงานประกันภัย
หรือเอกชนที่มีรายได้ค่อนข้างดีมาจัดงานต่าง ๆ ตามมา
ทำให้ต่อมาโรงแรมในหาดใหญ่ก็เรียนรู้
(copy and development)
และนำมาพัฒนาเป็นรายรับเสริมของทุกโรงแรมในปัจจุบัน

แต่สักพักชาวบ้านห้องอาคารพาณิชย์(ตึกแถว)ก็เริ่มโวยวาย
ที่โครงการไม่ยอมสร้างโรงภาพยนต์เสียซักทีหนึ่ง
ทำให้ร้านค้าบ้านเรือนแถวนั้นกลางคืนค่อนข้างเงียบเหงา
แต่โรงแรมกลับมีรายได้ค่อนข้างดีคือ เงียบสงบ
และมีรายรับจากการให้บริการต่าง ๆ ภายในโรงแรม
เช่น ห้องอาหาร ห้องดิสโก้เทค เพราะการไปใช้บริการที่อื่นในหาดใหญ่
ถือว่าค่อนข้างไกลและหารถรับจ้างมาส่งที่โรงแรมค่อนข้างแพง/หายาก
ทางโรงแรมและเศรษฐีเจ้าของที่ภูเก็ต
กลัวเสียชื่อเสียงมากเลยต้องยอมทำการสร้างโรงภาพยนต์ขี้นมา
เพราะคาดว่าจะเป็นแม่เหล็กส่วนหนึ่ง
ของการสร้างสีสรรค์และความสว่างไสวในยามค่ำคืน
กับให้มีลูกค้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น

จำได้ว่าไปดูน้อยกว่าห้าครั้ง
เพราะค่อนข้างไกลในสมัยนั้น
และรอบข้างค่อนข้างเปลี่ยว
โดยเฉพาะถนนสามชัย ที่มีทางต่อเชื่อมเข้าโรงแรมแห่งนี้
เดี๋ยวนี้เป็นที่จอดรถยนต์ทำความสะอาดของเทศบาลนครหาดใหญ่
ส่วนบริเวณตรงข้ามเป็นบ้านพักเจ้าหน้าที่เทศบาลในปัจจุบัน
บริเวณที่จอดรถเดิมเป็นสถานโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลเมืองหาดใหญ่
ก่อนย้ายไปที่ปัจจุบันที่แถวถนนปุณกัณฑ์(หลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
เคยขับรถจักรยานยนต์ไปกันสองคนกับเพื่อนประมาณเที่ยงคืน
ไปดูเขาฆ่าวัว ฆ่าหมู ส่งขายเขียงในตลาดสด/ตลาดชีกิมหยง ในหาดใหญ่
(ไม่ใช่ซาดิสต์อะไร อยากรู้อยากเห็นอะไรทำนองนั้น)

ไม่นานนักก็มี ทีวีสี เปิดให้บริการในประเทศ
และก็มีสินค้าทีวีสีทะลักเข้ามาขายในหาดใหญ่
เป็นสินค้าชายแดนที่ขายดีมาก
และราคาถูกกว่ากรุงเทพฯ มาก
(ภาษาที่สุภาพของที่นี่ห้ามเรียกว่า สินค้าเถื่อน
หรือหนีภาษี เพราะบางอย่างก็นำเข้าถูกกฎหมาย/หรือมีสิทธิ์นำเข้าตามกฎหมายศุลกากร)
ต่อมาก็ตามด้วยวิดีโอเทป (สมัยก่อนยอดนิยมมาก)
ทำให้มีกิจการหนังวิดีโอให้เช่า/หนังก๊อปปี้ขายดีมาก
มีผลกระทบกับโรงภาพยนต์อย่างต่อเนื่องและยาวนาน
จนสุดท้ายหลายโรงภาพยนต์หลายแห่งในหาดใหญ่ต้องเลิกกิจการไป
รวมทั้งโรงภาพยนต์แห่งนี้เช่นกัน
ปัจจุบันได้ Renovate อาคารโรงภาพยนต์
เป็นอาคารพาณิชย์ขายไปหมดแล้ว

ขณะเดียวกันตอนนั้นทางโรงแรม
ก็เริ่มขยายอาคารโรงแรมเพิ่มขึ้นอีกเฟสหนึ่งด้านข้าง(เป็นรูปตัว L)
เป็นการก่อสร้างที่เสร็จรวดเร็วมาก
เพราะใช้ระบบแบบเมืองนอก
คือคานและเสาเหล็กเชื่อม/ขันน็อตติดต่อกัน
แล้วค่อยตกแต่งใส่ พื้น เฟอร์นิเจอร์ สุขภัณฑ์ต่าง ๆ ภายหลัง

เคยถามเพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นวิศวกรธนาคารไทยแห่งแรกว่า
ทำไมเมืองไทยไม่นิยมการก่อสร้างแบบนี้
เพราะเสร็จเร็วและดูแข็งแรงด้วย
แกบอกว่า ถ้าระบบดับเพลิงดีและดับได้เร็วก็ไม่มีปัญหา
แต่ถ้าดับได้ช้าตึกทั้งตึกจะยุบตัวลงมาอย่างรวดเร็วมาก
เพราะเหล็กถ้าถูกความร้อนมาก ๆ
ก็จะขยายตัวและเสียสมดุลย์
จะอ่อนยวบลงมาได้เลย
(เหมือนการเผาไฟดัดลวดเหล็กทำนองนั้น)
ก็ยังไม่เชื่อแกมากนักในตอนนั้น คิดว่าเป็นไปได้อย่างไร
จนเจอเหตุการณ์ 9-11 ที่มีการถล่มตึก world trade
จึงได้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น

ลุล่วงสมัยนายกชาติชาย ชุณหวัน
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บูมมากในทุกแห่งหนทุกตำบลในประเทศไทย
ผู้บริหารของโรงแรมแห่งนี้ก็รายรับเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน
เพราะตอนนั้นอะไร ๆ ก็ดีไปหมด
การเงินสะพัด ซื้อหุ้นอะไรก็รวย ขายที่ดินก็ได้เงินมากมาย
คำว่าจนไม่มีอยู่ในประเทศไทย
กิจการโรงแรม การสัมนา ห้องอาหาร ดิสโก้เทค ก็แน่นไปหมดทุกแห่ง

จำได้ว่าธนาคารไทยแห่งแรกจัดสัมนาธุรกิจในอนาคต
เกี่ยวกับระบบเครือข่ายและสถานีโทรทัศน์ ไอทีวี
โดยรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ คุณบรรณวิทย์ บุญรัตน์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
ต้องแย่งห้องประชุมช่วงห้าโมงเย็นกับธนาคารเคสีเขียว
ทางธนาคารสีเขียวก็ไม่ยอมให้ล่วงเลยเวลา
เพราะต้องการใช้ต่ออ้างว่า กำนันมารอแล้ว
(กำนัน ใหญ่กว่าผู้ใหญ่บ้านอยู่แล้ว ดังนั้น กำนันมา ก็ต้องใหญ่จริง ๆ)

ทางธนาคารสีม่วงก็ต่อรองเวลาขอเวลาเพิ่มเติม
เพราะกำนันฝ่ายธนาคารสีม่วง
ยังพูดไม่จบประเด็นที่ต้องการจะพูด
ทางฝ่ายขาย/ผู้จัดการโรงแรมก็ต้องขอร้องกันทั้งสองฝ่าย
สรุปว่าธนาคารสีม่วงผิดตรงที่ไม่รักษาเวลาในการใช้ห้องประชุม
ธนาคารสีเขียวก็มีส่วนผิดในด้านการไม่ยอมลดราวาศอก/เอื้อเฟื้อ
ให้กับผู้ทำธุรกิจแบบเดียวกันและแข่งขันกัน
(พุทธศาสนาสุภาษิต "ควรมีความเอื้อเพื้อต่อกัน")
เรื่องนี้เล่าได้เพราะเหตุการณ์ล่วงเลยมากว่าสิบปีแล้ว
ที่จำได้ดีเพราะอยู่ในเหตุการณ์วันที่มีการ
หันหน้าไปคนละทาง
สร้างดาวกันคนละดวง
ช่วงชิงไปสู่สวรรค์
ใครไม่ทันเป็นคนล้มตาย

เมื่อผู้บริหารโรงแรม/เจ้าของที่ภูเก็ต
มีความเห็นว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มดี
ก็เลยเพิ่ม/ขยายกิจการไปซื้อที่ดิน
ด้านหลังอาคารพาณิชย์บริเวณแถวถนนรัถการ
ด้านหน้าเป็นพื้นที่ว่างของการรถไฟแห่งประเทศไทย
หรือเป็นระยะห่างจากเส้นทางวิ่งของรถไฟ
ต้องลอดสะพานลอยข้ามทางรถไฟเข้าไป
อยู่ใกล้กับสนามพระใต้พานลอยหาดใหญ่(สะพานลอย)
มีการคาดการณ์โครงการว่าจะทำเป็นตลาดเกษตร
แล้วทางเทศบาลนครหาดใหญ่จะทำถนนเลียบทางรถไฟให้

แต่โชคชะตาฟ้าลิขิต ลิขิตฟ้ายากคาดเดา และ ยากแก้ไขได้
ธุรกิจที่ว่าดีกลายเป็นเลวร้ายอย่างมหันต์
บ้านขายไม่ออก เงินไม่สะพัด ธง NPL โบกสะบัด
จนทำให้กิจการอาคารพาณิชย์ชุดนี้ล้มไปทั้งยืน
แม้ว่าจะมีการก่อสร้างเป็นโครงร่างตึกเสร็จแล้วบางส่วน
ปัจจุบันมีผู้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์
แบบไม่ชอบด้วยหลักการณ์/กฎหมายส่วนหนึ่ง
สถาบันการเงินที่ปล่อยเงินให้ก็ปล่อยเลยตามเลย
ยังไม่ทราบว่าสถาบันการเงินไหนดูแลเรื่องนี้
การพัฒนาจัดขายก็ลำบากเพราะสภาพทำเล
และปริบทความต้องการอาคารพาณิชย์เปลี่ยนแปลงแล้วส่วนหนึ่ง

กิจการโรงแรมแห่งนี้ก็มีการปรับโครงสร้างหนี้หลายครั้ง
มีการเปลี่ยนสถาบันการเงินถึงสองสามครั้ง
มีการแก้ไขทิศทางฮวงจุ๊ยก็หลายครั้ง
แต่ละครั้งก็ต้องเสียเงินเสียทอง
ก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง
ตามเหตุปัจจัยโชคเคราะห์และกรรมเก่า
(มีเขียนถึงบทหนึ่งในเรื่องฮวงจุ๊ยที่หาดใหญ่)
สุดท้ายก็ต้องให้มีการบริหารแบบเช่าจากสถาบันการเงิน
แทนการทิ้งร้างเป็นสภาพอาคารโบราณในอดีตไป

ผลพวงของการพัฒนาโรงแรมแห่งนี้
ทำให้ที่ดินข้างเคียงได้อนิสงค์คือ
สวนศิริ (มีชื่อถนนสวนศิริ)
แต่เดิมเป็นสวนผัก/สวนผลไม้
เป็นที่เปลี่ยวมากไม่ค่อยมีราคาก็มีราคาเพิ่มขึ้นมา
จำได้ว่ามีคนทำเป็นเต็นท์ขนาดใหญ่
กั้นเป็นห้องเล็ก ๆ มีผ้าใบ/ม่านปิดกั้นเป็นเขต
มีมุ้งกางขนาดพอนอนได้
แล้วให้นักเรียนนักศึกษาเช่าในราคาถูกมากเดือนไม่กี่ร้อย
โดยใช้ห้องน้ำห้องส้วมรวม กลางวันก็ร้อนมาก
เรียกว่าเข้าไปนอนไม่ค่อยได้เลย

มีการสร้างสะพานสัญจรเชื่อมต่อกับที่ดินแปลงนี้
เพิ่มขึ้นอีกหลายสะพานและมีถนนเชื่อมต่อหลายเส้นทาง
จนเป็นทางสาธารณะที่สะดวกขึ้นมาก
จนทำให้การสัญจรสะดวกขึ้นมากจนถึงทุกวันนี้
ตอนนี้บริเวณใกล้กับโรงแรมดังกล่าว
ก็กลับกลายเป็นสถานที่ศูนย์กลางชุมนุม
แหล่งที่ตั้งโรงเรียนกวดวิชาในหาดใหญ่
ที่มีหลายโรงเรียนและหลายแบรนด์ดัง
จากกรุงเทพฯ มาเปิดให้บริการ
เพื่อให้บริการกับนักเรียนระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา
ที่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือ Onet Anet

แต่ก็เคยมีเหตุร้ายครั้งหนึ่งคือ
ประมาณปลายปีที่แล้ว (2552)
ต้นไม้ที่ปลูกด้านหน้าอาคารพาณิชย์ต้นหนึ่ง
รากที่ชอนไชได้ไม่ลึกมากนัก
ช่วงฝนตกหนักผ่านมาหลายวันแล้ว
ช่วงหลังเกิดพายุพัดหมุนอย่างแรงในวันนั้น
เกิดการล้มลงมากลางถนนทับถูกนักศึกษา
มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกของภาคใต้
ที่ขับรถจักรยานยนต์ผ่านแถวนั้น
ทำให้ตายคาที่หนึ่งคน บาดเจ็บสาหัสหนึ่งคน
จนเทศบาลต้องตัดกิ่งก้านสาขาต้นไม้
ให้ลดลงจากเดิมจนเห็นต้นไม้ในสภาพปัจจุบัน

เขียนขึ้นจากความทรงจำที่เลือนลาง
ก่อนที่ความทรงจำเก่า ๆ จะเลือนหายไป

ภาพบริเวณสังเขปโครงการดังกล่าวจาก Google Maps
จะเห็นว่ามีคลองเตยล้อมรอบเป็นรูปตัว U
แต่ในภาพจะมีเส้นสีขาวทับลงไปด้านถนนเพชรเกษม
จนดูว่าไม่ล้อมรอบ
แต่ถ้า Search จาก Google ก็จะเห็นสภาพอาคารภายในแผนที่

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บ้านรังนกนางแอ่น(กินรัง)

เรื่องเล่าจากคนทำป้ายสุสานจีน

ขอโทษทันทีเมื่อส่งอีเมล์ผิดพลาด